สมาร์ทโฟนไม่ได้เป็นของเล่นหรืออาวุธคู่กายสำหรับคนรวยอีกต่อไปแล้ว ด้วยราคาที่อยู่ในระดับที่สามารถเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น แม้ปัจจุบันค่าตัวของเจ้าโทรศัพท์ฉลาด ๆ นี้จะลดระดับลงมาเรื่อย ๆ คิดเป็นเงินบาทไทยเหลือแค่หลักไม่กี่พันบาทเท่านั้น อีกทั้งยังมีแนวโน้มลดต่ำลงได้อีก
สำหรับผู้บริโภคไม่ใช่ปัญหา ต่างพร้อมใจกันตอบรับสินค้าราคาถูกกันอย่างคึกคัก สังเกตได้จากยอดขายของ "สมาร์ทโฟน" ที่รองรับระบบปฏิบัติการ "แอนดรอยด์" ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ตลาดสมาร์ทโฟนและแอปพลิเคชั่น ทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่กลับสร้างความปวดหัวให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์มากขึ้น
สำนักข่าว "รอยเตอร์ส" รายงานข้อมูลจากบริษัทวิจัยการ์ตเนอร์ว่า รายได้รวมจากการจำหน่ายสมาร์ทโฟนทั่วโลกภายในปีนี้จะเติบโตลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดให้การตอบรับกับอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือที่มีราคาถูกมากขึ้น ทำให้ราคาเฉลี่ยต่อเครื่องลดลงจากปีที่แล้ว
ขณะที่ความต้องการซื้อสมาร์ทโฟนในตลาดแถบอเมริกาเหนือและยุโรปเริ่มแผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้สองผู้นำตลาดสมาร์ทโฟนโลกอย่าง "ซัมซุงและแอปเปิล" พากันเปิดตัวสมาร์ทโฟนราคาถูกออกสู่ตลาดมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการเปิดตัวไอโฟนรุ่น 5C ปีที่ผ่านมา
"แอนชุล กุปตา" นักวิเคราะห์บริษัทการ์ตเนอร์ระบุว่า ยอดขายสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์จะชะลอตัวลง มีสาเหตุจากยอดขายสมาร์ทโฟนระดับล่างและระดับกลางในกลุ่มตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นไม่หยุดหย่อน ซึ่งตลาดกลุ่มนี้ตอบรับโทรศัพท์มือถือระดับราคาย่อมเยามากขึ้น ทำให้ราคาขายเฉลี่ยต่อเครื่องลดลง ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงมูลค่ารวมในตลาดชะลอตัวตามไปด้วย
ข้อมูลจากการ์ตเนอร์ระบุว่า ยอดขายสมาร์ทโฟนทั่วโลกแซงหน้ายอดขายโทรศัพท์ฟีเจอร์โฟนเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่ผ่านมา โดยสมาร์ทโฟนมีสัดส่วนยอดขายประมาณ 53.6% จากโทรศัพท์ที่ขายได้ทั้งหมดในตลาด และหากดูยอดขายเฉพาะในไตรมาส 4 ในปีที่ผ่านมาจะพบว่า สมาร์ทโฟนมีสัดส่วนยอดขายถึง 57.6% จากทั้งตลาด โดยยอดขายสมาร์ทโฟนทั่วโลกในปี 2556 อยู่ที่ราว 968 ล้านเครื่องและในปีนี้คาดว่า ยอดขายสมาร์ทโฟนทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 1,200-1,300 ล้านเครื่องเป็นสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของ "กูเกิล" เฉียด 1,000 ล้านเครื่อง เพิ่มจากปีก่อนที่สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์มีขาย 760 ล้านเครื่อง หรือ 78.4% จากยอดขายสมาร์ทโฟนทั้งหมด
ขณะที่ระบบปฏิบัติการไอโอเอสของแอปเปิล (ไอโฟน) ขายได้ราว 150 ล้านเครื่องหรือ 15.6% มีสัดส่วนลดลงจาก 19.1% ในปี 2555กระแสความนิยมสมาร์ทโฟนราคาแพงเริ่มลดลงอย่างชัดเจนในไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้ว เพราะทั้งซัมซุงและแอปเปิลต่างมีส่วนแบ่งในตลาดสมาร์ทโฟนลดลง
ขณะที่แบรนด์จีนอย่าง "หัวเว่ย" กลับมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นถึง 85% จากกลยุทธ์การขยายธุรกิจออกนอกประเทศจีน
ข้อมูลจากการ์ตเนอร์ระบุว่า ในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ส่วนแบ่งตลาดของซัมซุงอยู่ที่ 29.5% ลดลงจาก 31.1% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของแอปเปิลอยู่ที่ 17.8% ลดลงจาก 20.9%
แต่ส่วนแบ่งตลาดของหัวเว่ยกลับเพิ่มขึ้นเป็น 5.7% จากเดิมอยู่ราว 4.2%
นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือหลายรายคาดการณ์ตรงกันว่า แนวโน้มการเติบโตของสมาร์ทโฟนแบรนด์จีนน่าจะสร้างปัญหาให้ซัมซุงมากกว่าแอปเปิล เนื่องจากแอปเปิลไม่ได้เน้นตลาดแมสอย่างจริงจัง และคงไม่กระโดดเข้ามาในเร็ว ๆ นี้ด้วยอย่างแน่นอน
"ลี ซิมป์สัน" นักวิเคราะห์บริษัท เจฟ เฟอรีส์กล่าวว่า ในช่วง 1-2 ปีนี้ซัมซุงต้องคิดหาวิธีกระจายทรัพยากรของบริษัท วิธีปฏิรูปบริษัท และวิธีการสร้างนวัตกรรมต่อไป เพื่อรักษาผลกำไรขององค์กร
แต่ในความจริงแล้ว บรรดาผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือทั้งหมดต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ของตนเองเพื่อรับมือยุคใหม่ของตลาดสมาร์ทโฟน
"การ์ตเนอร์" ให้ข้อมูลด้วยว่า ตลาดรวมโทรศัพท์มือถือ (รวมสมาร์ทโฟนและฟีเจอร์โฟน) ในปี 2556 มียอดขายเครื่องทั้งหมดอยู่ที่ 1,800 ล้านเครื่อง แบรนด์ซัมซุงกินส่วนแบ่งราว 1 ใน 4 ของทั้งตลาด เพิ่มจาก 22% เมื่อปีก่อน ส่วนโนเกียกินส่วนแบ่ง 13.9% ลดลงจาก 19%
หันมามองตลาดแอปพลิเคชั่นกันบ้าง เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะกรรมการยุโรปได้ออกมาเปิดเผยผลสำรวจเกี่ยวกับตัวเลขอุตสาหกรรมแอปพลิเคชั่นแถบยุโรปว่า มีรายได้รวมสูงถึง 17,500 ล้านยูโร และน่าจะเพิ่มเป็น 63,000 ล้านยูโรภายในปี 2561
เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า แม้ประเทศแถบยุโรปจะไม่มีบริการเสิร์ชเอ็นจิ้นแนว "กูเกิล", บริการค้าปลีกสินค้าออนไลน์แนว "อเมซอน" หรือบริการโซเชียลเน็ตเวิร์ก
แนว "เฟซบุ๊ก" แต่กลับสามารถกลบจุดอ่อนด้วยการมีอุตสาหกรรมการผลิตแอปพลิเคชั่นที่ใหญ่โตมโหฬารได้
นอกจากนี้ ประเทศในแถบยุโรปยังมีเม็ดเงินที่คนทั่วไปและนักโฆษณาใช้จ่ายกับแอปพลิเคชั่นคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 6,100 ล้านยูโรในปี 2556 คิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% ของจำนวนเม็ดเงินที่ใช้จ่ายกับแอปพลิเคชั่นจากตลาดทุกประเทศทั่วโลก ตัวเลขดังกล่าวนี้ยังน่าจะเติบโตขึ้นไปเป็น 18,700 ล้านเหรียญยูโร ภายในปี 2561 อีกด้วย
"นีลี่ ครูส์" รองประธานคณะกรรมการยุโรปกล่าวว่า ในช่วงเวลาที่เราต้องเผชิญอัตราการว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาวที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตัวเลขดังกล่าวนี้ทำให้เกิดความหวัง โดยข้อมูลจากผลสำรวจระบุว่านักพัฒนาแอปพลิเคชั่นสัญชาติยุโรปจะเพิ่มจาก 1 ล้านคนในปีที่แล้ว เป็น 2.8 ล้านคนในปี 2561 ส่วนบุคลากร
ฝ่ายสนับสนุนและการตลาดที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมแอปพลิเคชั่นจะโตตามไปด้วย จากปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 1.8 ล้านคน เป็น 4.8 ล้านคนในอีก 4 ปีจากนี้
"ธุรกิจพัฒนาแอปพลิเคชั่นเป็นส่วนที่แถบยุโรปจะสามารถขึ้นเป็นผู้นำของโลกได้ อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปจำเป็นต้องแก้ปัญหาเกี่ยวกับช่องทางการเชื่อมต่อออนไลน์ และความแตกต่างของตลาดแต่ละประเทศก่อน โดยในเวลานี้มีนักพัฒนาสัญชาติอเมริกันและยุโรปมีสัดส่วนรายได้ในตลาดแอปพลิเคชั่นแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา พอ ๆ กันที่ 42%"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น